สารพันปัญหา

จากประเด็นปัญหาที่ท่านสมาชิกถามมา ในคอลัมน์นี้ เราจึงนำปัญหามาตอบข้อข้องใจ  อาทิเช่น การล้างเครื่องมือและอุปกรณ์ในหอผู้ป่วย การดูแลทำความสะอาดถุงมือที่สวมใส่ล้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การใช้น้ำยาเคมี กับเครื่องมือกลุ่ม critical item  การจัดการกับห่อเครื่องมือหลังการนึ่งแล้วเปียกชื้น

 

1.การล้างอุปกรณ์ที่ใช้กับผู้ป่วยก่อนส่งไปยังหน่วยจ่ายกลาง จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในอ่างล้างอุปกรณ์ในหอผู้ป่วยหรือไม่?

ตอบ ตามหลักการที่ถูกต้อง การล้างอุปกรณ์ที่ใช้กับผู้ป่วยแล้วไม่ควรดำเนินการในหอผู้ป่วย ควรรวบรวมอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้แล้วส่งไปยังหน่วยจ่ายกลาง เพื่อล้างทำความสะอาดทำลายเชื้อหรือทำให้ปราศจากเชื้อเพียงจุดเดียว เป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อและเพื่อให้สามารถควบคุมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนของการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการในแต่ละหอผู้ป่วยและแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งการสูญเสียแรงงานเวลาที่ใช้ในการจัดการ การรวบรวมอุปกรณ์ที่ใช้แล้วจากหน่วยงานเพื่อส่งไปหน่วยจ่ายกลางควรปฏิบัติดังนี้

1. ควรขจัดคราบสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนบนอุปกรณ์ออกให้มากที่สุดทันทีหลังใช้งาน ในที่นี้แนะนำให้ใช้ผ้าก๊อสเช็ดและรีบส่งไปหน่วยจ่ายกลาง

2. ถ้าต้องเก็บรวมอุปกรณ์ที่ใช้แล้วไว้หลายชั่วโมงก่อนส่งไปหน่วยจ่ายกลาง แนะนำให้ใช้ผ้าชุบน้ำให้ชุ่มคลุมเครื่องมือไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งปนเปื้อนบนอุปกรณ์เครื่องมือแห้งติดจะทำความสะอาดยาก หรือใช้สารละลายประเภทเอ็นซัยม์ฉีดพ่นบนอุปกรณ์เครื่องมือ

3. รวบรวมอุปกรณ์ใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิด ทั่วไปนิยมใช้กล่องพลาสติกเพราะมีน้ำหนักเบาและทำความสะอาดง่าย

4. กล่องที่ใส่อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้แล้วควรมีการระบุว่าเป็นกล่องใส่เครื่องมือปนเปื้อน หรือมีสัญลักษณ์ชัดเจน

โรงพยาบาลควรบริหารจัดการให้มีการดำเนินการในการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้ออย่างเป็นระบบ และควรจัดหาบุคลากรและเครื่องมือให้กับหน่วยจ่ายกลาง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดค่าใช้จ่าย ลดการแพร่กระจายเชื้อในหอผู้ป่วย กระบวนการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อจะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หากมีการพัฒนาการปฏิบัติงานของหน่วยจ่ายกลาง

2.ถุงมือยางชนิดหนาและยาวที่ใช้ล้างเครื่องมือ ต้องทำลายเชื้อหลังจากใช้งานหรือไม่ ?

ตอบ หลังจากใช้ถุงมือสำหรับล้างเครื่องมือเสร็จแล้ว  ควรล้างด้วยน้ำและสารขัดล้างให้สะอาดก่อน  ซับให้แห้งแล้วแช่ใน 0.5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์นาน 30 นาที  แล้วจึงล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง  ผึ่งให้แห้ง

3.อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์กลุ่ม Critical Item หากไม่สามารถทำให้ปราศจากเชื้อโดยวิธีการนึ่งไอน้ำหรืออบแก๊สได้ ควรใช้น้ำยาอะไรและมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?

ตอบ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์กลุ่ม Critical Item หากไม่สามารถนึ่งไอน้ำหรืออบแก๊ส EOได้ จำเป็นต้องแช่น้ำยาทำลายเชื้อ ใช้ high level disinfectant ซึ่งได้แก่ 2 %glutaraldehyde และต้องแช่เครื่องมือในน้ำยาเป็นเวลานาน 6-10 ชั่วโมงหรือตาม Instruction For Use(IFU) หลังจากนั้นนำเครื่องมือไปล้างด้วยน้ำปราศจากเชื้อจนมั่นใจว่าไม่มีน้ำยาตกค้างอยู่บนเครื่องมือ เช็ดเครื่องมือด้วยผ้าปราศจากเชื้อ และเก็บในภาชนะที่ปราศจากเชื้อ ขณะล้างด้วยน้ำปราศจากเชื้อและนำเก็บในภาชนะปราศจากเชื้อ จะต้องระมัดระวังการปนเปื้อนเชื้อซ้ำ นอกจากนี้ควรมีการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำยาก่อนที่จะใช้แช่อุปกรณ์ทุกครั้ง

4.ห่ออุปกรณ์ที่ผ่านการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว พบว่า มีบางห่อที่เปียกชื้นอยู่ นำมาทำให้แห้งโดยการใช้พัดลมเป่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อหรือไม่ ?

ตอบ ห่ออุปกรณ์ที่ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้วหากพบว่าห่อเปียกชื้นไม่ควรนำมาทำให้แห้งโดยใช้พัดลมเป่า  ควรจะตรวจสอบดูว่าเพราะเหตุใดห่ออุปกรณ์จึงไม่แห้งหลังเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว  อาจมาจากหลายๆสาเหตุเช่น

• ระยะเวลาในการทำให้แห้ง (drying time)น้อยเกินไป

• การบรรจุอุปกรณ์เครื่องมือในห่อมากเกินไป ทำให้ภายในห่อหนาแน่นมาก

• การบรรจุห่ออุปกรณ์เข้าช่องอบในเครื่องนึ่งไอน้ำแน่นหรือมากเกินไป

• การจัดเรียงห่ออุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น นำห่อเครื่องผ้าวางไว้ข้างใต้กล่องบรรจุอุปกรณ์

สำหรับห่ออุปกรณ์ที่พบว่าหลังจากการทำให้ปราศจากเชื้อมีบางห่อที่ไม่แห้งหรือยังเปียกชื้นอยู่ มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

1.ห่ออุปกรณ์ไม่แห้งจากสาเหตุของการจัดเรียง มีห่ออุปกรณ์เพียงบางห่อเปียกชื้น ให้คัดแยกออกและมาทำการ Re-processใหม่ (ล้าง, Pack, เปลี่ยน indicator ทั้งภายนอก ภายในใหม่) แล้วจึงนำไปจัดเรียงให้ถูกต้องและทำให้ปราศจากเชื้อ

2.ห่ออุปกรณ์ไม่แห้งมาจากปัญหาของเครื่องทำให้ปราศจากเชื้อ ควรนำอุปกรณ์ทั้งหมดในรอบนั้นมาดำเนินการใหม่ (Re-process) และแจ้งช่างให้ตรวจสอบการทำงานของเครื่องก่อนที่จะทำการทำให้ปราศจากเชื้อต่อไป


5.ทำไมต้องทำให้เครื่องมือทุกชิ้นแห้งสนิทก่อนนำไปทำให้ปราศจากเชื้อ?

ตอบ 5.1 หากมีหยดน้ำอยู่ในหีบห่อเครื่องมือหรือไม่แห้ง และต้องนำไปทำให้ปราศจากเชื้อด้วยไอน้ำภายใต้แรงดัน ไอน้ำอิ่มตัว หรือSaturated steamที่อยู่ภายในช่องอบของเครื่องนึ่งไอน้ำจะทำให้สภาพภายในช่องอบไม่เป็นไปตามกระบวนการที่มีการออกแบบหรือกำหนดไว้ มีผลต่อประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อเกิด Wet pack ได้

5.2 กรณีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะนำไปทำให้ปราศจากเชื้อด้วยแก๊ส EO ต้องทำให้เครื่องมือแห้งสนิท เพราะหยดน้ำอาจมีผลกระทบต่อกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ น้ำจะรวมตัวกับแก๊ส EO ทำให้เกิด ethylene glycol (สารพิษตกค้าง) ซึ่งไม่สามารถขจัดออกจากอุปกรณ์ได้โดยการระบายแก๊ส จะตกค้างอยู่บนอุปกรณ์ เมื่อผู้ป่วยนำอุปกรณ์ไปใช้จะได้รับอันตรายได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โอกาสหน้า เราจำนำปัญหาที่ท่านสมาชิกสงสัย มาตอบข้อข้องใจอีก สวัสดีคะ

เอกสารอ้างอิง : หนังสือหลักและแนวปฏิบัติในการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ
โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อะเคื้อ อุณหเลขกะ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
: จุลสาร 3M Sterile + U Network โดยคุณมะลิวัลย์ กรีติยุตานนท์